“เราควรเลือกใช้ Timeframe ไหนในการดูกราฟ” เป็นคำถามยอดฮิตสำหรับนักเทคนิคมือใหม่ หากเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบพื้นๆ มักจะใช้การวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top-Down approach) หมายถึง การดูภาพรวมเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศที่เราสนใจก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงไล่ลงมาเพื่อหาอุตสาหกรรมที่เราสนใจ โดยใช้การคาดการณ์ผลตอบแทน ความเสี่ยง และช่วงระยะเวลาที่สนใจลงทุน เป็นหลัก แล้วจึงไล่ลงมาดูว่าบริษัทใดในอุตสาหกรรมนั้นๆที่น่าลงทุนที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก่อนหน้า
การดูกราฟทางเทคนิคก็เช่นกัน เมื่อเราเริ่มศึกษากราฟของอะไรสักอย่างเพื่อจะวิเคราะห์แนวโน้ม ไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์(หุ้น) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โลหะมีค่า หรือจะเป็นสินค้าทางการเกษตรก็ตามแต่ นักลงทุนควรไล่ดูกราฟจาก Timeframe ใหญ่ก่อน แล้วจึงค่อยลงมาดูใน Timeframe ที่เล็กกว่า ซึ่งจะมีขั้นตอนคร่าวๆดังนี้
- ดูกราฟราย Year และ Month ก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่นี้มีแนวโน้มหลักเป็นเช่นไร ขึ้นหรือลง รวมทั้งตีเส้นแนวรับ-แนวต้านสำคัญจากเส้นแนวนอน (Horizontal Line) และเส้นแนวโน้ม (Trend Line) ไว้เพื่อคอยเตือนเมื่อราคาเข้าใกล้ระดับราคาที่มีนัยสำคัญ (ดังเช่นในรูปด้านบนนี้)
- ไล่ลงมาดูกราฟ Week และ Day ตามลำดับ เพื่อให้ทราบว่าแนวโน้มในปัจจุบัน ยังสอดคล้องกับแนวโน้มใหญ่หรือไม่
- สุดท้ายหาระดับราคาเพื่อส่งคำสั่งซื้อ-ขาย จุดนี้แหละที่นักลงทุนแต่ละกลุ่มควรจะเริ่มสนใจใน Timeframe ที่ต่างกัน โดยจะแบ่งคร่าวๆตามระยะเวลาการลงทุนดังนี้
- เก็งกำไรภายในวัน ควรดูราย 5min – 15min
- เก็งกำไรภายในสัปดาห์ ควรดูราย 30min – 1Hour
- เก็งกำไรช่วง 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ควรดูราย 1Hour – Hours
- ในกรณีที่ซื้อลงทุนมากกว่า 1 เดือน ควรดูราย Day ขึ้นไป
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
- ยิ่ง Timeframe สั้นเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเจอสัญญาณหลอก (False Signal) มากเท่านั้น
- เน้นสีแนวรับแนวต้านใหญ่ ให้มีความเด่นชัดกว่าเส้นแนวรับแนวต้านย่อย เพื่อช่วยในการวิเคราะห์
- เปิด Order ตามเทรนใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากการเปิด Order สวนเทรนใหญ่เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นมีความเสี่ยงสูง
- แนวโน้มเปลี่ยนได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน จึงต้องศึกษาและติดตามปัจจัยพื้นฐานด้วย
Timeframe ที่แนะนำในบทความนี้เป็นเพียงการแนะนำเบื้องต้น เนื่องจากนักลงทุนมีเทคนิคในการใช้ต่างกันจากประสบการณ์ ความถนัด รวมทั้งการประยุกต์ใช้งาน