ต้นทุนจม (Sunk Cost) หมายถึง ต้นทุนที่จ่ายไปก่อนหน้าและไม่สามารถนำกลับคืนได้ ทางเลือกจึงมีเพียง ยอมทิ้งต้นทุนส่วนที่ลงทุนไปก่อนหน้า หรือ เดินหน้าลงทุนหรือดำเนินการต่อไป โดยที่ต้นทุนจมนั้นอาจไม่ได้หมายถึงตัวเงินเสมอไป อาจจะเป็นต้นทุนทางด้านเวลาก็ได้เช่นกัน
เราสามารถนำหลักการของต้นทุนจม ไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ หากเปรียบต้นทุนจมดังกล่าวเป็นเหมือนต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เวลาที่เราจะต้องเสียเพิ่มนั่นคือต้นทุนแปรผัน (Variable Costs) ซึ่งต้นทุนส่วนนี้แหละ ที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะยอมเสียเพิ่มหรือไม่
ในเชิงธุรกิจนั้นการตัดสินใจ ล้มเลิกโครงการ หรือ ดำเนินโครงการต่อ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยสำคัญๆในเชิงลบเข้ามากระทบ อาจเนื่องด้วย ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น หรือความต้องการในตลาดลดลง จำเป็นต้องมีการทบทวนโครงการดังกล่าว ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์แล้ว คาดว่าในอนาคตจะส่งผลให้กำไรลดลงจนไม่น่าลงทุน หรือมีโครงการอื่นที่น่าสนใจกว่า ควรล้มเลิกโครงการ และหันไปลงทุนในโครงการที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ณ สถานการณ์ในขณะนั้น
ลองดูตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น
- เราซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องหนึ่ง (ในส่วนนี้คือต้นทุนจม) แล้วรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้น่าเบื่อ เราจะเลือกดูจนจบเพื่อรักษาสิทธิ์ในการดูจนจบก็ได้ หรือจะเลือกเดินออกจากโรงและเอาเวลาส่วนนั้นไปทำสิ่งอื่นที่เรารู้สึกว่าคุ้มค่าต่อเวลาที่เราจะเสียไปมากกว่า (ในส่วนนี้คือต้นทุนแปรผัน)
- เราได้เริ่มธุรกิจร้านขายของชำ (ในส่วนนี้คือต้นทุนจม) แต่หลังจากที่เราเปิดร้านไปซักพัก ปรากฏว่ามีร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่าง 7-11 มาเปิดข้างๆ ทำให้เสียฐานลูกค้าไปจำนวนมากจนไม่คุ้มที่จะเปิดต่อ (ในส่วนนี้คือปัจจัยที่เข้ามากระทบ) ทางเลือกของเราคือ พัฒนาคุณภาพของตัวเองเพื่อแบ่งส่วนแบ่งการตลาดกลับมา หรือเลือกที่จะเลิกกิจการแล้วไปหาทำเลอื่นทำแทน หรือเลือกที่จะไปเริ่มทำธุรกิจอื่นที่น่าสนใจกว่าแทน (ในส่วนนี้คือต้นทุนแปรผัน)
เมื่อเราต้องลงต้นทุนประเภทผันแปร (Variable Costs) เข้าไปเพิ่ม ต้นทุนส่วนนั้นจะกลายเป็นต้นทุนจม (Sunk Cost) ทันที เนื่องจากไม่สามารถจะนำกลับคืนได้อีก