ต้นทุนในการเทรด Forex หลักๆจะมีอยู่ 3 ส่วนคือ Spread, Swap และ Commission ซึ่งต้นทุนดังกล่าวนั้น เป็นค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมที่ทางโบรกเกอร์ Forex เรียกเก็บจากผู้ซื้อขาย Forex นั่นเอง โดยต้นทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาด Forex ไม่ควรมองข้าม โดยควรจะศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มซื้อขายจริงในตลาด Forex
โดยแต่ละโบรกเกอร์ที่เปิดให้บริการซื้อขาย Forex หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Broker Forex จะคิดค่าบริการในส่วนนี้แตกต่างกัน ผู้ลงทุนซื้อขายในตลาด Forex จึงควรทำความเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถเลือก Broker ที่ใช้เทรด Forex ได้อย่างเหมาะสมกับกลยุทธ์ในการเทรดของผู้ลงทุนแต่ละราย หากนักลงทุนเลือก Broker Forex ได้อย่างเหมาะสม จะเป็นการลดต้นทุนในการเทรดให้ต่ำลงได้ด้วย
Spread ในตลาด Forex คืออะไร ?
Spread คือ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อ (Bid) และราคาขาย (Ask) ของแต่ละคู่เงิน (Base currency) รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแต่ละ Forex Broker หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงส่วนต่างของราคาทองคำแท่งหน้าร้านทอง ที่มักจะมีส่วนต่างจำนวน 100 บาท
ซึ่งส่วนต่างนี้เอง คือส่วนที่ผู้ให้บริการสภาพคล่อง ซึ่งในที่นี้คือ Forex Broker กำหนดส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายนี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อคิดค่าบริการแก่ผู้ซื้อขาย และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงในขณะที่ทาง Forex Broker หาผู้ซื้อขายในสัญญาตรงข้ามกันเพื่อหักล้างสถานะที่ทาง Forex Broker รับมาจากเทรดเดอร์ ซึ่งส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปยัง Broker นั่นเอง
โดยแต่ละ Forex Broker จะมี Spread ที่ต่างกันอยู่พอสมควรในแต่ละคู่เงิน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆของแต่ละ Forex Broker โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคามีความผันผวนสูงกว่าช่วงเวลาปกติ แต่ละ Broker ก็จะมีการปรับเพิ่ม Spread ตามความรุนแรงของความผันผวนแตกต่างกันด้วย ซึ่งความผันผวนดังกล่าว อาจเกิดจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่มีผลกระทบรุนแรงกับราคาเข้ามากระทบ เช่น เกิดสงคราม หรือโรคระบาดอย่างเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นต้น
ดังนั้นผู้ลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex Exchange) ควรจะพิจารณาเลือก Forex Broker ที่มีค่า Spread ต่ำๆ โดยเฉพาะในคู่เงิน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผู้ลงทุนมีการซื้อขายบ่อยๆ เพื่อลดต้นทุนการซื้อขายในแต่ละรายการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำไรในการซื้อขายได้ทางอ้อมอีกด้วย
Swap ในตลาด Forex คืออะไร ?
Swap คือ เงินค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเมื่อผู้ลงทุนถือสถานะข้ามคืน โดยจะคิดจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ย (Overnight Interest) หรือจะเรียกว่าเป็นค่าธรรมเนียมในการ Rollover ของสัญญาซื้อขาย Forex ก็ได้
แต่ละคู่เงินจะมีการคิด Swap ที่ต่างกัน ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามสกุลเงินหรือผลิตภัณฑ์ที่ขาย และรับดอกเบี้ยจากสกุลเงินที่ซื้อ อาจกล่าวได้ว่า Swap เป็นเหมือนส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของแต่ละคู่เงินที่ซื้อขายในตลาด Forex ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลให้ค่า Swap ในแต่ละคู่เงินมีค่าที่แตกต่างกัน โดยที่ทั้งฝั่งซื้อ (Long) และฝั่งขาย (Short) ก็จะถูกคิดว่า Swap ในทุกๆคืนที่มีการถือสถานะข้ามวัน
ค่า Swap จะถูกคิดในช่วงเวลา 0.00 น. ตามเวลา Server ของแต่ละ Forex Broker โดยจะมีการยกค่า Swap ของวันเสาร์และอาทิตย์ มาคิดในคืนวันพุธ ทำให้ค่า Swap วันพุธจะมากกว่าปกติถึง 3 เท่า
และยังมีบัญชีบางประเภทในตลาด Forex เช่น Islamic account (บัญชีของผู้นับถือศาสนาอิสลาม) ที่แม้จะบอกว่าไม่มีการคิดค่า Swap เนื่องจากผิดตามหลักของผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่จะมีเงื่อนไขบางอย่างแอบแฝงอยู่เสมอ เช่น ห้ามถือสัญญาเกิน 1 สัปดาห์ หากถือเกิน 1 สัปดาห์ ดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะถูกนำมาคิดทบอยู่ดี
Commission ในตลาด Forex คืออะไร ?
ค่า Commission ในตลาด Forex ส่วนมากราจะพบในบัญชีประเภท Zero Spread หรือที่เรียกว่า ECN ซึ่งลักษณะเด่นของบัญชีซื้อขาย Forex ประเภทนี้คือจะมี Spread ที่ต่ำกว่าบัญชี Standard ซึ่งแม้จะมีการอ้างว่า Spread เทียบเท่ากับ 0 แต่แท้ที่จริงแล้วแค่เพียงใกล้เคียงกับ 0 ซึ่งการที่จะได้ Spread ที่แคบลงนั้น ผู้ลงทุนในตลาด Forex จะต้องแลกกับการจ่ายค่า Commission แทนค่า Spread
โดยทาง Forex Broker จะอ้างว่าค่า Commission ดังกล่าวเป็นค่าบริการในการเข้าถึงเครือข่ายในการส่งคำสั่ง ที่มีการรวบรวมผู้ให้สภาพคล่องในตลาด Forex หลายๆเจ้าไว้ เพื่อเลือกผู้ให้บริการสภาพคล่องที่ให้ราคาที่ดีที่สุดทั้งซื้อ (Bid) และขาย (Ask) ในขณะนั้นๆ แต่จะต้องแลกกับการถูกเก็บค่า Commission หรือค่าบริการแทน
ซึ่งค่า Commission ดังกล่าว มักจะถูกเก็บประมาณ 6$ ในคู่เงินหลัก (Major Currency Pair) และประมาณ 8$ ในคู่เงินรอง (Minor Currency Pair) ต่อการซื้อขาย 1 Standard Lot
สรุปค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย Forex
จะเห็นได้ว่าต้นทุนหรือค่าธรรมเนียมในการเทรด Forex นั้นหลักๆจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆดังกล่าวไว้ข้างต้นคือ Spread, Swap และ Commission ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละประเภทบัญชี ดังนั้นผู้ลงทุนในตลาด Forex จึงจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละบัญชีให้ถี่ถ้วน ก่อนเริ่มซื้อขายจริงให้เหมาะสมกับกลยุทธในการเทรด เช่น
- หากต้องการซื้อขาย Forex ในช่วงเวลาสั้นๆ อาจเลือกซื้อขายในบัญชีประเภท Zero Spread เพราะการที่ Spread ในการซื้อขายบาง จะทำให้สามารถปิดสถานะได้ในช่วงเวลาสั้นๆ
- หากผู้ลงทุนต้องการถือสถานะข้ามวันเพียง 1-2 วัน ก็อาจเลือกใช้ Forex Broker ที่มีบัญชี Free Swap ตามระยะเวลาที่เราต้องการถือสถานะข้าม เพราะหากเลยจากช่วงที่ Free Swap แล้ว มักจะมีการคิดค่า Swap ในแต่ละวันที่เยอะขึ้นกว่าบัญชีปกติ
- และหากผู้ลงทุนต้องการเปิดสถานะนานๆ หรือ Run Trend ก็ควรใช้บัญชี Standard แต่เลือก Forex Broker ที่มีการคิดค่า Swap ในคู่เงินที่ต้องการซื้อขายที่เป็นบวก หรือคิด Swap น้อยกว่า Forex Broker อื่นๆ