หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลกช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและศรัทราในหลักปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก เมื่อกลไกตลาดไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้าสู่ดุลยภาพได้ดังเดิม และยังประสบกับภาวะผู้ว่างงานล้นตลาด

     กระทั่งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นผ่านการจัดการด้านอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) ซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี ค.ศ. 1936 ที่มีชื่อว่า The General Theory of Employment, Money and Interest ซึ่งได้รับความสนใจไปอย่างกว้างขวาง เกี่ยวเนื่องจาก เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระสำคัญในด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์รวมโดยเฉพาะ จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การแบ่งขอบเขตของการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 ภาค คือ

  • เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro Economics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจรายย่อย ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาของสินค้าและปัจจัยแต่ละชนิดในตลาดต่างๆ ตลอดจนการกระจายรายได้ กล่าวโดยสรุปคือเป็นเรื่องของธุรกิจเดียว ตลาดเดียว ซึ่งสามารถใช้หลักอุปสงค์ (Demand) คือการมองทางด้านผู้ซื้อ และอุปทาน (Supply) ซึ่งเป็นการมองทางด้านผู้ขาย
  • เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macro Economics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจหน่วยใหญ่ หรือส่วนรวมของทั้งประเทศ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติหรือระดับโลก เช่น รายได้ประชาชาติ GDP GNP การเงินการธนาคาร การค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การออมและการลงทุน แรงงานและการว่างงาน ปริมาณเงิน เป็นต้น โดยมีแนวคิดในการวิเคราะห์มากมาย แต่หลักการเบื้องต้นง่ายๆ คือ อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เช่นกัน ซึ่งการศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคจะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่างๆทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น และสามารถนำเอาแนวคิดและทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค ไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบการวิเคราะห์ตัดสินใจบริหารงานด้านต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเศรษฐกิจในการการสร้างความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (economic growth) การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economic stabilization)  และการกระจายความเป็นธรรม (distribution function)