เมื่อพูดถึงการลงทุน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์นั้น จะมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาของแต่ละสินทรัพย์ต่างกันด้วย และจะต้องเข้าใจก่อนว่าสินทรัพย์ในการลงทุน ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
- สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Assets) เช่น ทองคำ บ้าน ที่ดิน รถยนต์ โรงงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่า หรือค่าบริการในการใช้สินทรัพย์เหล่านั้นเป็นค่าตอบแทน
- สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นสามัญ เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย (Interest) เงินปันผล (Dividend) หรือกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
ในชีวิตจริง เราสามารถถือครองสินทรัพย์ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพื่ออยู่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงเพื่อการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง เราจึงจำเป็นต้องตัดสินใจว่าควรจะถือครองสินทรัพย์อะไรบ้าง และในสัดส่วนเท่าใด
เราจึงจำเป็นต้องจัดสรรเงินลงทุน (Asset allocation) ที่มีอยู่จำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจวัดเป็นตัวเลขได้หากเป็นปริมาณเงิน หรืออาจเป็นความพอใจจากการถือครองทรัพย์สินบางประเภท เช่น วัตถุโบราณ หรืองานฝีมือ แม้จะไม่สามารถวัดเป็นปริมาณเงินที่ชัดเจนได้ แต่สินทรัพย์ทุกอย่างก็ยังมีมูลค่าในตัวเองอยู่เสมอ
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสัดส่วนการลงทุน
อายุ (Age)
เนื่องจากอายุมีความสัมพันธ์ต่อรายได้ รวมถึงความต้องการของชีวิตในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน เงินทุนจึงจำเป็นต้องถูกแบ่งสัดส่วนเพื่อถือครองสินทรัพย์ ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย เช่น
- วัยทำงาน อาจเลือกซื้อซื้อรถยนต์ การกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน หรือการสะสมทรัพย์สินอื่นๆเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต
- วัยกลางคน เป็นช่วงที่มีความมั่นคงจากรายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจะเลือกลงทุนโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ และมุ่งเน้นการลงทุนที่สามารถรักษาเงินต้น หรือลดความเสี่ยงลง
- วัยหลังเกษียณ เป็นช่วงวัยนี้มีแนวโน้มที่จะรับความเสี่ยงได้ลดลง เนื่องจากแนวโน้มของรายได้ จึงมักเน้นลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง รวมถึงการถือกรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ
เป้าหมายการลงทุน (Investment Objective)
หากต้องการตอบตอนแทนสูง จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้ลงทุนแต่ละรายจึงควรวางเป้าหมายในการลงทุน ก่อนเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน
- ระดับการยอมรับความเสี่ยง (Risk Tolerance) ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก สถานะทางการเงิน รายได้ ภาระค่าใช้จ่าย หรือสถานภาพ เช่น ผู้ที่มีครอบครัวจะรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าผู้ลงทุนที่มีสถานะภาพโสด
- ผลตอบแทนที่คาดหวัง (Return Objective) จะต้องสัมพันธ์กับระดับความเสี่ยง และเป้าหมายการลงทุน รวมถึงยังต้องมีการกระจายความเสี่ยงในระดับที่พอเหมาะ เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
ข้อจำกัดการลงทุน (Investment Constraint)
ผู้ลงทุนแต่ละคนย่อมมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ซึ่งข้อจำกัดการลงทุนนี้ อาจเกิดจากสถานะความเป็นอยู่ ช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน รวมถึงประสบการณ์ของผู้ลงทุนเอง สามารถแบ่งได้ ดังนี้
- สภาพคล่อง (Liquidity) ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินสดของแต่ละคน ผู้ที่มีแนวโน้มอาจต้องใช้เงินสดยามฉุกเฉิน จึงควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง มากกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น
- ระยะเวลาในการลงทุน (Investment Time Horizon) โดยปกติการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลานาน มักจะถูกชดเชยด้วยผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินของแต่ละคนควบคู่ด้วย
- ข้อจำกัดด้านภาษี (Tax Concern) ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากเป้าหมายของการลงุทน คือการสร้างผลตอบแทนหลังหักภาษีแล้วให้สูงที่สุด ภาษีจึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนทุกคนไม่ควรมองข้าม
- ความพอใจส่วนบุคคล (Unique Need) เกิดจากการกำหนดทางเลือกการลงทุน และสินทรัพย์ที่ต้องการหรือความไม่ต้องการลงทุนไว้อย่างชัดเจน สัดส่วนการลงทุนจึงถูกกำหนดด้วยปัจจัยนี้ด้วย
บทส่งท้าย
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น จึงส่งผลให้การจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ลงทุนแต่ละราย และส่งผลต่อเนื่องถึงสัดส่วนของสินทรัพย์ที่นักลงทุนแต่ละคนถือครองอยู่ มีความแตกต่างกันไป