ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจโลก ไม่เพียงแต่เป็นโลหะที่มีความสวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในฐานะสินทรัพย์สำรองและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงินอีกด้วย

     ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำนั้นมีความหลากหลายและซับซ้อนมาก ทั้งจากภายในประเทศและปัจจัยระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อุปสงค์และอุปทาน, การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ, อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท, อัตราดอกเบี้ย, ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด, ความเสี่ยงทางการเมือง, การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปรับพอร์ททองคำของสถาบันการเงินรายใหญ่ การทำความเข้าใจปัจจัยเหล่านี้เป็นที่สิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนในทองคำได้ดียิ่งขึ้น

     ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่แต่ละปัจจัยมีต่อราคาทองคำ เพื่อให้นักลงทุนสามารถมองเห็นภาพรวมและนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา ผมอยากจะพาไปทำความรู้จักทองคำให้ดียิ่งขึ้นก่อน เพื่อที่จะได้ทราบถึงปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อราคาทองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของทองคำ

     ทองคำ (Gold) สัญลักษณ์ทางเคมีคือ AU (มาจากภาษาละตินว่า Aurum) เป็นธาตุโลหะทรานซิชัน สีเหลืองทองมันวาว เนื้ออ่อนนุ่ม สามารถยืดและตีเป็นแผ่นได้ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่ ลักษณะที่พบโดยทั่วไปมักเป็นเกล็ด หรือเป็นเม็ดกลมเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ มักมีส่วนผสมของ แร่เงิน (Ag), ทองแดง (Cu), เหล็ก (Fe) และเทลลูเรียม (Te) จะต้องนำมาผ่านขั้นตอนการถลุง เพื่อบดแยกและผ่านกรรมวิธีต่างๆ จึงจะได้เป็นแร่ทองคำบริสุทธิ์

     แร่ธาตุทองคำ เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา จากการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อนผสมผสานกับสารละลายจำพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่างๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร จึงมีการพบการฝังตัวของแร่ธาตุทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งสามารถสึกกร่อนและถูกน้ำพัดพาไปสะสมตัวในที่แห่งใหม่ เช่นตามเชิงเขา หรือลำห้วย

ประโยชน์ของทองคำ

  • วัตถุดิบสำคัญในการทำเครื่องประดับ: เหตุที่นิยมนำทองคำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นโลหะที่มีความ งดงามมันวาว (Lustre), คงทน (Durable), หายาก (rarity) และสามารถนำกลับไปใช้ได้ (Reuseable) ซึ่งเป็นลักคุณลักษณะเฉพาะตัวของแร่ทองคำ
  • ด้านอวกาศ: ทองคำถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของชุดนักบินอวกาศและแคปซูล เพื่อป้องกันรังสีในอวกาศที่มีพลังงานสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้ทองคำบริสุทธิ์เคลือบระบบเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หมวกเหล็ก เกราะบังหน้า และอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้ในอวกาศอีกด้วย
  • วงการทันตกรรม: ทองคำถูกนำมาใช้เพื่อการครอบฟัน เชื่อมฟัน หรือการเลี่ยมทอง รวมทั้งยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตฟันปลอมด้วย เนื่องจากทองคำมีความคงทนต่อการกัดกร่อน การหมองคล้ำ และยังมีความแข็งแรงอีกด้วย โดยจะใช้ทองคำผสมกับธาตุอื่น เช่น แพลทินัม เป็นต้น
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีการนำทองคำมาใช้เป็นวัสดุที่ทำหน้าที่สัมผัสในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องคิดเลข โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากทองคำมีค่าการนำไฟฟ้าสูง และมีความคงทนต่อการกัดกร่อน จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานของเครื่องไฟฟ้าเหล่านั้น
  • ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign exchange reserves) เพื่อการลงทุนและเป็นหลักประกันทางการเงินของประเทศ โดยประเทศที่มีทองคำหนุนหลังมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐ, เยอรมนี, อิตาลี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน ตามลำดับ
Factors affecting the price of Gold

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำ

อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าในโลกนี้แทบทุกอย่างเกิดจากความพอใจที่จะซื้อและขาย ดังนั้นปริมาณความต้องการซื้อและขายจึงมีความสำคัญในการกำหนดราคาทองคำ สังเกตุได้จากช่วงเทศกาลที่ต้องการใช้ทองคำมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ราคาทองคำก็จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่ต้องการใช้ในช่วงนั้นด้วย

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index)

Dollar-Index

ถือว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากราคาทองคำจะมีทิศทางตรงข้ามกับการเคลื่อนตัวของราคาทองคำ และจะเป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท หากดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย (หรือพูดง่ายๆคือ หากถือทองคำไว้ ก็จะเสียโอกาสในการรับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย ในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ราคาทองคำจึงมีแนวโน้มปรับตัวลงนั่นเอง)

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (USD/THB)

เนื่องจากทองคำมีการซื้อขายกันในเงินสกุลหลักคือดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญเนื่องจากราคาทองคำ 96.5% ต่อน้ำหนัก 1 บาทในประเทศไทย ซึ่งมีสูตรคำนวนจาก [(Spot Gold + Premium) x 32.148 x USD/THB x 0.965] / 65.6 ดังนั้นหากค่าเงินบาทเราอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ราคาทองคำในไทยดีดตัวขึ้น

อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate)

หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้นักลงทุนรู้สึกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินฝากมากขึ้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างทองคำ ซึ่งไม่มีผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย จึงทำให้มีนักลงทุนบางส่วนขายทองคำออกสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อโยกเงินกลับมาฝากเงิน หรือซื้อพันธบัตรต่างๆซึ่งให้ผลตอบแทนล้อไปกับอัตราดอกเบี้ย

เงินเฟ้อและเงินฝืด (Inflation & Deflation)

เมื่อระดับเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นจะส่งผลให้เงินจำนวนเท่าเดิมมีอำนาจในการซื้อลดลง เนื่องจากราคาสินค้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งราคาทองคำก็เช่นกัน ซึ่งหากเกิดเงินฝืดขึ้นในระบบจะส่งผลในเชิงตรงกับเงินเฟ้อ

ความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk)

อย่างที่ได้กล่าวไปช่วงต้นว่าทองคำสามารถรักษามูลค่าตัวเองได้ดีกว่าการถือเงินสกุลต่างๆ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โลกดูมีความเสี่ยงมากขึ้นนักลงทุนจึงมีแนวโน้มโยกเงินกลับเข้าสู่ทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน จึงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าว

การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth)

เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นนั่นหมายถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกำลังลดลง บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีผลกำไรที่เติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หุ้นจึงมักมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนมีแนวโน้มโยกเงินกลับสู่ตลาดทุนในยามที่เศรษฐกิจเติบโตดี และขายทองคำออกมามากกว่าในช่วงอื่นๆ เนื่องจากต้องการนำเงินไปพักไว้ในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม ภายใต้ความเสี่ยงที่มีแนวโน้มลดลง

การปรับพอร์ททองคำของสถาบันการเงิน

Gold-Financial-Institution

เนื่องจากสินทรัพย์และปริมาณเงินที่สถาบันถือครองอยู่มีปริมาณมาก ดังนั้นเวลาสถาบันมีการขยับพอร์ทจึงส่งผลกับตลาดมากตามไปด้วย

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีกระแสลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ (Dedollarisation) อันเนื่องจากความไม่มั่นใจในความแข็งแกร่งของเงินสกุลดอลลาร์ ด้วยเหตุดังกล่าวธนาคารกลางทั่วโลกจึงมีการซื้อทองคำมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงลดการถือครองดอลลาร์ลง

ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สามารถรักษามูลค่าในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและให้การป้องกันกับต้นทุนการครองชีพที่เพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับเงินสดที่มูลค่าลดลงเรื่อยๆตามอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางจึงต้องมีการสำรองทองคำไว้เพื่อป้องกันวิกฤตทางการเงิน และรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินนั่นเอง โดยธนาคารกลางสหรัฐเป็นผู้ถือครองทองคำรายใหญ่ที่สุดน้ำหนักถึง 8 พันกว่าตัน

ปริมาณทองคำ

มนุษย์มีการขุดทองคำขึ้นมาแล้วน้ำหนักประมาณ 198,000,000 กิโลกรัม ซึ่งสามารถรวมกันเป็นลูกบาศก์ขนาดประมาณ 21 เมตรในทุกด้าน โดยแต่ละปีมีการขุดทองเพิ่มประมาณ 2,500,000 ถึง 3,000,000 กิโลกรัม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก คาดกันว่าปริมาณทองคำที่เหลือให้ขุดเหลืออีกประมาณ 20% ของปริมาณทั้งหมด ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้การขุดทองจากแหล่งที่ยากขึ้นสามารถทำได้

การลงทุนทองคำในรูปแบบต่าง ๆ

เราสามารถลงทุนในทองคำได้ ผ่านหลายช่องทางด้วยกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ลงทุน, ระยะเวลาที่ต้องใช้เงินก้อนดังกล่าว, อัตราแลกเปลี่ยน, ค่าธรรมเนียม และต้นทุนในการจัดเก็บทองคำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนตัดสินใจเลือกช่องทางในการลงทุนทองคำแตกต่างกัน

จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ช่วงปี 2020-2024 พบว่าในช่วงดังกล่าวการลงทุนในทองคำไทย ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทองคำในช่องทางอื่น ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาทองในไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่าตลาดโลก ขณะที่การลงทุน Gold ETF ผ่านกองทุน GLD ของ KTAM ซึ่งทำผลตอบแทนได้ดีสุดในบรรดาทองทุนทองคำในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ยังให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเล็กน้อย ซึ่งอาจสืบเนื่องจากค่าธรรมเนียมต่างๆที่กองทุนมีการจัดเก็บ

คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทองคำ”

     ปัจจัยพื้นฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลกระทบต่อราคาทองทั้งหมด แต่ผลกระทบแต่ละด้านจะมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละรอบว่าจะส่งผลทางด้านไหนมากกว่ากัน การที่เราเข้าใจปัจจัยพื้นฐานคร่าวๆทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความเข้าใจเรื่องทิศทางการไหลของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหาผลตอบแทนที่มากที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละกลุ่มต้องการ ซึ่งบทความต่อจากนี้จะเป็นการลงลึกในแต่ละปัจจัยพื้นฐานที่กล่าวมา รวมทั้งการดูเทคนิคอลเพื่อต่อยอดความเข้าใจให้ลึกขึ้นแต่ในแต่ปัจจัย

     โดยปกติเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก (Fund Flow) มักจะย้ายไปพักตัวในสินทรัพย์ไม่กี่อย่าง คือ เงินสกุลหลักโดยเฉพาะเงิน ดอลลาร์สหรัฐ (USD), ทองคำ (Gold) และ และพันธบัตรของรัฐบาลประเทศอื่น ส่งผลให้สินทรัพย์ทั้ง 3 มีสภาพคล่องสูง ประกอบกับมีความผันผวนสูงเป็นเงาตามตัว

     เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อข่าว และปัจจัยที่มากระทบในทันที โดยเฉพาะในปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารสามารถเดินทางได้ไว จึงทำให้ราคาสามารถตอบรับข่าวได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนในปัจจุบันนั่นเอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

What Drives the Price of Gold?

4 Factors Affecting Gold Rates: An Investor’s Guide

รวม 3 วิธีลงทุน “ทองคำ” ให้ผลตอบแทนต่างกันอย่างไร?

Gold price: What are the factors that impact the price of gold?