ตราสารทุน (Equity Instrument) เป็นตราสารทางการเงินซึ่งกิจการออกให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อระดมเงินไปใช้ดำเนินกิจการตามนโยบายของกิจการ โดยที่ผู้ที่ถือตราสารทุนจะมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ”

     ตราสารทุน หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า “หุ้น” เป็นตราสารทางการเงินที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกันอย่างมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนดี   ใช้เงินลงทุนไม่เยอะ มีสภาพคล่องทางการเงินสูง สามารถปรับพอร์ทการลงทุนได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในยามที่มีปัจจัยต่างๆเข้ามากระทบ แต่ต้องแลกมาด้วยความเสียงที่สูงขึ้นตามระดับผลตอบแทนที่คาดหวังเหมือนเงาตามตัว ดังนั้นนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารทุนควรมีความเข้ารู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกรวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ต้องการจะลงทุนมากพอ ก่อนจะเริ่มลงทุนจริง เรามาเริ่มด้วยการรู้จักตราสารทุนแต่ละประเภทกันก่อนเลย

  • หุ้นสามัญ (Common Stock) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทมหาชน จำกัด (บมจ.) ที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน โดยผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ มีสิทธิในการรับเงินปันผลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ
  • หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทมหาชน จำกัด (บมจ.) มีลักษณะเป็นกึ่งเจ้าหนี้และกึ่งเจ้าของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ โดยมีสิทธิในการรับผลตอบแทนและสิทธิในการรับเงินทุนคืนหลังเลิกกิจการก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุม
  • ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือวอแรนท์ (Warrant) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ให้สิทธิผู้ถือวอแรนท์ในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ตามราคาใช้สิทธิ และอัตราใช้สิทธิ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
  • ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ เอ็นวีดีอาร์ (Non – Voting Depository Receipt : NVDR) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีสถานะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ (Automatic List) และมีหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) เป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตลาดตราสารทุน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • ตลาดแรก (Primary Market) เป็นตลาดสำหรับกิจการที่สร้างตราสารออกสู่ตลาดเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนโดยตรง จะเป็นตราสารที่ออกขายใหม่ หรือตราสารที่นำออกขายในตลาดเป็นครั้งแรก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    • การเสนอขายแก่บุคคลวงในจำกัด เรียกว่า Private Placement (PP) ซึ่งกิจการที่ออกตราสาร สามารถเสนอขายได้ 2 แบบ คือ แบบเสนอขายแก่นักลงทุนเฉพาะรายไม่เกิน 35 คน ในระยะเวลา 12 เดือน และแบบเสนอขายแก่สถาบัน (เป็นไปตามระเบียบที่ กลต. กำหนดไว้)
    • การเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป เรียกว่า Public Offering (PO) ซึ่งกิจการที่ออกตราสาร จะต้องได้รับอนุมัติตามขบวนการขั้นตอนตามที่ กลต. ระบุไว้ก่อนจะออกขายในตลาด
  • ตลาดรอง (Secondary Market) จะเป็นตลาดสำหรับตราสารที่มีการออกจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว เสมือนเป็นการซื้อขายเปลี่ยนมือของผู้ถือครอง เป็นการหมุนเวียนอยู่ในระบบ ซึ่งจะมีหน่วยงาน ก.ล.ต. เป็นผู้กํากับภาพรวม และมีหน่วยงานตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลการซื้อขายในตลาดรอง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
    • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกว่า The Stock Exchange of Thailand ( SET)จะเป็นตลาดรองของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีทุนชำระ ตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป
    • ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เรียกว่า Market for Alternative Investment (mai) จะเป็นตลาดรองสำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและเล็ก ที่มีทุนชำระ ตั้งแต่ 20 ล้านขึ้นไป
    • ตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขาย ทําธุรกรรมกันเองโดยตรง (Over-the-Counter)

ผลตอบแทนของตราสารทุน

  • เงินปันผล (Dividend) คือ ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท หลังหักค่าใช้จ่ายๆรวมทั้งภาษี และมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทให้มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น (ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าของ) โดยจะมีการเก็บภาษีจากเงินปันผล 10% ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ได้รับเงินปันผล 100 บาท จะถูกหักเป็นค่าภาษี 10 บาท และได้รับจริงจำนวน 90 บาท
  • กำไรจากการซื้อ-ขายหุ้น (Capital Gain) คือ กำไรจากการซื้อถูก และขายแพง ซึ่งกำไรในส่วนนี้จะไม่ถูกคิดเป็นรายได้ในการคำนวนฐานภาษี แต่จะมีค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหุ้นตามปกติเล็กน้อย ซึ่งผลตอบแทนรวมทั้งอัตราความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวก็จะแตกต่างกันไป ตามสภาพเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ

ประโยชน์จากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน

  • แหล่งเงินทุนระยะยาว สามารถระดมเงินทุนจากประชาชนได้โดยตรง โดยไม่มีภาระเงินต้นและดอกเบี้ยเหมือนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
  • เพิ่มช่องทางระดมทุน เพื่อช่วยบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หุ้นสามัญเพิ่มทุน หุ้นกู้หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (warrant) เป็นต้น
  • เสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท เนื่องจากมีกลไกการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แก่สาธารณะ
  • สร้างความภักดี และผลตอบแทนที่ดีให้แก่พนักงาน กรณีมีการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัท (Employee StockOption Program หรือ ESOP) ก็สามารถเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทได้
  • สร้างความรับผิดชอบและการบริหารงานแบบมืออาชีพ เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ เนื่องจากมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นในวงกว้าง
  • การดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาว ช่วยให้บริษัทที่มีการบริหารงานแบบธุรกิจครอบครัวก้าวเข้าสู่การบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น มีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหารกิจการได้

การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ

SET-Heatmap

เนื่องด้วยในตลาดตราสารทุน (ตลาดหุ้น) มีธุรกิจอยู่มากมายหลายหลาก ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้แบ่งหมวดอุตสาหกรรมออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ และหมวดธุรกิจย่อยอีก 28 หมวด เพื่อความเหมาะสมในการเปรียบเทียบข้อมูลของผู้ลงทุน ซึ่งการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น จะทำให้เห็นภาพรวมของแนวโน้มแต่ละบริษัท เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน และยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมประเทศได้มากขึ้น

  • เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) ธุรกิจเกี่ยวกับการเพาะปลูก ทำป่าไม้ ทำปศุสัตว์ แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และ ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
    • ธุรกิจการเกษตร (Agribusiness)
    • อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
  • สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคต่างๆ ทั้งที่เป็นสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย
    • แฟชั่น (Fashion)
    • ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน (Home & Office Products)
    • ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (Personal Products & Pharmaceuticals)
  • ธุรกิจการเงิน (Financials) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ
    • ธนาคาร (Banking)
    • เงินทุนและหลักทรัพย์ (Finance & Securities)
    • ประกันภัยและประกันชีวิต(Insurance)
  • สินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายวัตถุดิบทั่วไปที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม สินค้าขั้นต้นหรือสินค้าขั้นกลาง เครื่องมือและเครื่องจักรต่าง ๆ ที่นำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์
    • ยานยนต์ (Automotive)
    • วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (Industrial Materials & Machine)
    • บรรจุภัณฑ์ (Packaging)
    • กระดาษและวัสดุการพิมพ์ (Paper & Printing Materials)
    • ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (Petrochemicals & Chemicals)
    • เหล็ก (Steel)
  • อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ผู้พัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงบริการก่อสร้างและงานวิศวกรรม
    • วัสดุก่อสร้าง (Construction Materials)
    • บริการรับเหมาก่อสร้าง (Construction Services)
    • พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Development)
    • กองทุนรวมอสังหาริม ทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund & Real Extate Investment Trusts)
  • ทรัพยากร (Resources) ธุรกิจเกี่ยวกับการแสวงหา หรือจัดการทรัพยากรต่างๆ เช่น การผลิตและจัดสรรเชื้อเพลิงพลังงาน และการทำเหมืองแร่ เป็นต้น
    • พลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities)
    • เหมืองแร่ (Mining)
  • บริการ (Services) ธุรกิจในสาขาบริการต่างๆ ยกเว้นบริการทางการเงินและบริการด้านข้อมูลสารสนเทศหรือเทคโนโลยี หรือเป็นบริการที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจอื่นแล้ว
    • พาณิชย์ (Commerce)
    • การแพทย์ (Health Care Services)
    • สื่อและสิ่งพิมพ์ (Media & Publishing)
    • บริการเฉพาะกิจ (Professional Services)
    • การท่องเที่ยวและสันทนาการ (Tourisms & Leisure)
    • ขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation & Logistics)
  • เทคโนโลยี (Technology) ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขั้นต้น ขั้นกลางหรือขั้นสุดท้าย และรวมถึงผู้ให้บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Components)
    • เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication Technology)