แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทฤษฏีทางด้านเศรษฐศาสตร์นั้น อยู่คู่กับวิถีชีวิตมุนษย์มาตั้งแต่เราเริ่มอยู่กันเป็นสังคม แรกเริ่มมีการแบ่งงานกันทำตามความถนัด และการแลกเปลี่ยนสิ่งของ (Barter System) เพื่อความได้เปรียบในเชิงอยู่รอดในช่วงสังคมยุคแรกๆ ที่ยังต้องล่าสัตว์หรือทำการเกษตรแบบง่ายๆเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น

     ต่อมามีการพัฒนาจากการอยู่ร่วมกันเพียงครอบครัวเล็กๆเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นประเทศเหมือนในปัจจุบันนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสรวมทั้งอำนาจต่อรองต่างๆที่มากขึ้น หลักเศรษฐศาสตร์ง่ายๆเพื่อความอยู่รอดจึงไม่พอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ถูกเพิ่มเติมด้วยความต้องการการยอมรับจากคนในสังคม รวมทั้งเกียรติยศชื่อเสียง ตามทฤษฏีของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) จุดนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาของแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ที่มีมากขึ้น

     ช่วงยุค 470 ปีก่อนคริสตกาล โซเครติส ได้ให้แนวคิดในเชิงปรัชญาที่โดดเด่น แต่แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์โดยตรงยังมีไม่มากนัก แนวความคิดของเขาได้รับการสานต่อจากเพลโตซึ่งเป็นลูกศิษย์ (เพลโตอ้างในหนังสือ The Republic ของเขา) มีแนวความคิดที่เน้นธรรมชาติของความแตกต่าง โดยเขาเห็นว่าคนเราทุกคนต่างมีความถนัดไม่เหมือนกันและมีธรรมชาติของความหลากหลายในหมู่พวกเรา จึงเป็นผลทำให้พวกเราแต่ละคนมีอาชีพที่แตกต่างกันออกไป แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้รับการต่อยอดในเรื่องของการแบ่งงานกันทำโดยเพลโตในกาลต่อมา

     ในปี ค.ศ. 1776  อดัม สมิท (Adam smith) เผยแพร่หนังสือที่มีชื่อว่า “ความมั่นคงของประชาชาติ”  (The Wealth of Nations) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ เดิมที อดัม สมิท เรียกศาสตร์นี้ว่า เศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีคำศัพท์คำว่า Economics ต่อมาคำว่าเศรษฐกิจ (Economy) ได้ปรับเป็นคำว่า เศรษฐศาสตร์ (Economics) ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษากรีก oikonomia แปลว่าการจัดการครัวเรือน และกลายเป็นสาขาวิชาอีกแขนงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 โดย อดัม สมิธ ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์”

AdamSmith

     อดัม สมิธ เป็นนักปรัชญาคนแรกที่เสนอแนวคิดที่ว่า ความร่ำรวยของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินคงคลัง แต่ขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) การส่งออกไม่แน่ว่าจะเป็นประโยชน์ หรือการนำเข้าก็ไม่แน่ว่าจะเป็นการขาดทุน การค้าขายอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายคู่ค้า (Win-Win situation) และกลไกการตลาดเปรียบเสมือน “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) ซึ่งในระยะยาว (long run) มีแนวโน้มจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล นอกจากสมิทแล้วนักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญในกลุ่มของคลาสสิกยังมีโทมัส มัลทัส (Thomas Multhus) เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) เป็นต้น

     ต่อมาได้มีสำนักนีโอคลาสสิก (Neoclassical school) นำแนวคิดของ อดัม สมิธ (สำนักคลาสสิค) มาต่อยอดและพัฒนาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยเชื่อว่าการแข่งขันอย่างเสรีจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง นั่นคือ สนับสนุนแนวความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเช่นเดียวกับของสำนักคลาสสิก และเน้นให้เห็นว่าเนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องพยายามเลือกบริโภคสินค้าและบริการเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ (อรรถประโยชน์) สูงสุด ในทำนองเดียวกัน ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีการผลิตที่เสียต้นทุนต่ำที่สุดหรือให้ได้กำไรสูงสูด นั่นคือ แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้วางรากฐานแนวคิดที่สำคัญของสำนักนีโอคลาสสิกคือ อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) และ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto)

     นอกจากนี้สำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิกต่างเชื่อว่า อุปทานเป็นตัวสร้างอุปสงค์ (Supply creates own demand) ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักตาม กฎของซาย (Say’s law) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า อุปทานจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ กล่าวคือ ไม่ว่าผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรออกมาก็ตามจะมีผู้รับซื้ออยู่เสมอ นั่นคือ จะไม่เกิดภาวะสินค้าล้นหรือขาดตลาด รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเกิดการว่างงาน

     แต่ในช่วงทศวรรษ 1930 ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก เมื่อกลไกตลาดไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพได้เช่นเดิม อีกทั้งยังประสบกับจำนวนปรชากรตกงานมากขึ้น และวิกฤติเศรษฐกิจกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น

JohnMaynardKeynes

     เมื่อแนวคิดเดิมไม่สามารแก้ไขได้ นักเศรษฐศาสตร์ต้องหาแนวคิดใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงกำเนิดแนวคิดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ซึ่งมีหลักสำคัญว่า ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มระบบ (Full-employment equilibrium) เสมอไป ทั้งนี้ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจอาจเป็นดุลยภาพที่มีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเงินฝืด หรือปัญหาการว่างงานก็ได้ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเชื่อว่า เมื่อมีการว่างงานอัตราค่าจ้างย่อมตกต่ำลง เนื่องจากคนว่างงานบางส่วนยินดีทำงานโดยรับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง การปรับตัวของอัตราค่าจ้างจะช่วยขจัดให้การว่างงานหมดไป

     เคนส์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อค่าจ้างลดต่ำจนถึงระดับหนึ่งจะไม่ปรับตัวลดต่ำลงไปอีก รัฐบาลจึงต้องเข้ามีบทบาทในการช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยการจัดการทางด้านอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) ซึ่งมุ่งศึกษาวิธีจัดการอุปสงค์มวลรวม (Demand management policy) เพื่อตอบคำถามว่า ทำอย่างไรอุปสงค์มวลรวมจึงจะอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มระบบ โดยอาศัยการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้นโยบายการคลังและการเงิน ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลไม่จำต้องอยู่ในภาวะสมดุลเสมอ อาจจะเลือกใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะนั้น