ปัจจัยที่ส่งผลต่อสัดส่วนการลงทุน

0
investment-proportion-factors

     เมื่อพูดถึงการลงทุน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์นั้น จะมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาของแต่ละสินทรัพย์ต่างกันด้วย และจะต้องเข้าใจก่อนว่าสินทรัพย์ในการลงทุน ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  • สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Assets) เช่น ทองคำ บ้าน ที่ดิน รถยนต์ โรงงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่า หรือค่าบริการในการใช้สินทรัพย์เหล่านั้นเป็นค่าตอบแทน
  • สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นสามัญ เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย (Interest) เงินปันผล (Dividend) หรือกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)

     ในชีวิตจริง เราสามารถถือครองสินทรัพย์ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพื่ออยู่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงเพื่อการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง เราจึงจำเป็นต้องตัดสินใจว่าควรจะถือครองสินทรัพย์อะไรบ้าง และในสัดส่วนเท่าใด

     เราจึงจำเป็นต้องจัดสรรเงินลงทุน (Asset allocation) ที่มีอยู่จำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจวัดเป็นตัวเลขได้หากเป็นปริมาณเงิน หรืออาจเป็นความพอใจจากการถือครองทรัพย์สินบางประเภท เช่น วัตถุโบราณ หรืองานฝีมือ แม้จะไม่สามารถวัดเป็นปริมาณเงินที่ชัดเจนได้ แต่สินทรัพย์ทุกอย่างก็ยังมีมูลค่าในตัวเองอยู่เสมอ

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสัดส่วนการลงทุน

อายุ (Age)

     เนื่องจากอายุมีความสัมพันธ์ต่อรายได้ รวมถึงความต้องการของชีวิตในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน เงินทุนจึงจำเป็นต้องถูกแบ่งสัดส่วนเพื่อถือครองสินทรัพย์ ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย เช่น

  • วัยทำงาน อาจเลือกซื้อซื้อรถยนต์ การกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน หรือการสะสมทรัพย์สินอื่นๆเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต
  • วัยกลางคน เป็นช่วงที่มีความมั่นคงจากรายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจะเลือกลงทุนโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ และมุ่งเน้นการลงทุนที่สามารถรักษาเงินต้น หรือลดความเสี่ยงลง
  • วัยหลังเกษียณ เป็นช่วงวัยนี้มีแนวโน้มที่จะรับความเสี่ยงได้ลดลง เนื่องจากแนวโน้มของรายได้ จึงมักเน้นลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง รวมถึงการถือกรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

เป้าหมายการลงทุน (Investment Objective)

     หากต้องการตอบตอนแทนสูง จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้ลงทุนแต่ละรายจึงควรวางเป้าหมายในการลงทุน ก่อนเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน

  • ระดับการยอมรับความเสี่ยง (Risk Tolerance) ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก สถานะทางการเงิน รายได้ ภาระค่าใช้จ่าย หรือสถานภาพ เช่น ผู้ที่มีครอบครัวจะรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าผู้ลงทุนที่มีสถานะภาพโสด
  • ผลตอบแทนที่คาดหวัง (Return Objective) จะต้องสัมพันธ์กับระดับความเสี่ยง และเป้าหมายการลงทุน รวมถึงยังต้องมีการกระจายความเสี่ยงในระดับที่พอเหมาะ เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

ข้อจำกัดการลงทุน (Investment Constraint)

     ผู้ลงทุนแต่ละคนย่อมมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ซึ่งข้อจำกัดการลงทุนนี้ อาจเกิดจากสถานะความเป็นอยู่ ช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน รวมถึงประสบการณ์ของผู้ลงทุนเอง สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • สภาพคล่อง (Liquidity) ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินสดของแต่ละคน ผู้ที่มีแนวโน้มอาจต้องใช้เงินสดยามฉุกเฉิน จึงควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง มากกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น
  • ระยะเวลาในการลงทุน (Investment Time Horizon) โดยปกติการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลานาน มักจะถูกชดเชยด้วยผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินของแต่ละคนควบคู่ด้วย
  • ข้อจำกัดด้านภาษี (Tax Concern) ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากเป้าหมายของการลงุทน คือการสร้างผลตอบแทนหลังหักภาษีแล้วให้สูงที่สุด ภาษีจึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนทุกคนไม่ควรมองข้าม
  • ความพอใจส่วนบุคคล (Unique Need) เกิดจากการกำหนดทางเลือกการลงทุน และสินทรัพย์ที่ต้องการหรือความไม่ต้องการลงทุนไว้อย่างชัดเจน สัดส่วนการลงทุนจึงถูกกำหนดด้วยปัจจัยนี้ด้วย

บทส่งท้าย

     จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น จึงส่งผลให้การจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ลงทุนแต่ละราย และส่งผลต่อเนื่องถึงสัดส่วนของสินทรัพย์ที่นักลงทุนแต่ละคนถือครองอยู่ มีความแตกต่างกันไป

Leverage คืออะไร ?

0
Leverage

     Leverage ถือเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้การลงทุนในตลาด Forex มีความน่าสนใจ เนื่องจาก Leverage เป็นตัวกำหนดหลักประกัน (Margin) ที่ต้องวางในการซื้อขาย หากใช้ Leverage ที่สูง จะทำให้อำนาจการซื้อขายสูงขึ้นตาม หรือสามารถซื้อขายด้วย Lot Size ที่ใหญ่ขึ้นได้ จากหลักประกันที่เท่ากัน

     สมมติว่าราคาทองคำหนัก 1 บาท ราคา 20,000 บาท หากเรามีเงินจำนวน 20,000 บาท ก็จะสามารถซื้อทองคำได้เพียง 1 บาทเท่านั้น แต่ในตลาด Forex นั้น หากใช้ Leverage ที่ 1:100 จะส่งผลให้สามารถซื้อทองคำได้ถึง 100 บาทเลยทีเดียว

ความสัมพันธ์ระหว่าง Leverage กับปัจจัยอื่นๆ

  • หลักประกันที่ต้องวางในการซื้อขาย (Margin) ตามที่กล่าวไว้ด้านบน หากใช้ Leverage สูงๆ จะส่งผลให้มีอำนาจการซื้อขายสูงขึ้น เนื่องจากใช้เงินประกันที่ต้องวางลดลง เมื่อเทียบกับขนาด Lot ที่เท่ากัน
  • ขนาดของการลงทุน (Lot Size) เมื่อใช้ Leverage สูงๆ เงินหลักประกันที่ต้องวางต่อ 1 Lot จะลดลง ส่งผลให้สามารถเพิ่มขนาดขของการลงทุนได้ จากหลักประกันที่มีอยู่ในพอร์ทการลงทุน
  • ผลกำไรขาดทุน (Gain & Loss) เมื่อใช้ Leverage สูงๆ จะส่งผลให้เพิ่มขนาดของการลงทุนได้มากขึ้น ในต้นทุนที่เท่าเดิม นั่นแปลว่า หากใช้ Leverage สูงๆ จะสามารถเพิ่มปริมาณของผลกำไร/ขาดทุนได้มากขึ้น จากเงินลงทุนในปริมาณเท่าเดิม
  • ความเสี่ยง (Risk) เมื่อใช้ Leverage สูงๆ ก็จะสามารถให้เพิ่มขนาดของการซื้อขายได้มากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่นักลงทุน ต้องแบกรับมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
  • กลยุทธในการซื้อขาย (Strategy) เมื่อใช้ Leverage สูงๆ ย่อมทำให้การซื้อขายในขนาดเท่าเดิมใช้หลักประกันที่ต้องวางในการซื้อขาย (Margin) ลดลง นั่นหมายถึงจะมีหลักประกันเหลือเยอะขึ้นมากกว่าการใช้ Leverage ต่ำๆ เมื่อมีหลักประกันเหลือเยอะขึ้น ก็ส่งผลให้สามารถวางกลยุทธในการเทรด Forex ได้หลากหลายขึ้นด้วย

ควรใช้ Leverage เท่าไหร่ในการซื้อขาย Forex

     การเลือกใช้ Leverage เท่าไหร่ในการซื้อขายนั้น จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆที่ได้กล่าวมาด้านบน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนแต่ละคน อาจจะต้องใช้ประสบการณ์และเวลาในการเทรดเป็นตัวช่วยในการหาคำตอบดังกล่าว แต่แน่นอนว่าการเลือกใช้ Leverage สูงๆนั้น ย่อมแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงรวมทั้งเสี่ยงต่อการล้างพอร์ท

     นักลงทุนแต่ละคนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อใช้ Leverage ที่สูง และต้องการควบคุมอารมณ์ในการเทรดให้ดี เนื่องจากการเปิด Order จนไม่เหลือหลักประกัน (Free Margin) ไว้เลย จะเป็นการ Overtrade จะส่งผลให้เสี่ยงต่อการล้างพอร์ท หรือพอร์ทแตกในที่สุด

     สำหรับนักลงทุนมือใหม่ในตลาด Forex โดยส่วนตัวผมแนะนำให้เริ่มใช้ Leverage ที่ระดับ 1:50 ก่อน หรือเต็มที่ไม่ควรเกิน 1:100 และค่อยๆลองปรับ Leverage ให้สูงขึ้น หรือลดลง เพื่อให้รู้ว่าการเทรดด้วย Leverage ที่สูงๆ และ Leverage ที่ต่ำๆนั้นแตกต่างกันอย่างไร แล้วค่อยๆปรับให้เหมาะสมกับแนวทางการเทรดของตัวเอง

บทส่งท้าย

     Leverage นั้นเป็นเหมือนดาบ 2 คม นักลงทุนในตลาด Forex ต้องพยายามระลึกไว้เสมอว่า กำไรเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนต่างแสวงหาในการลงทุน แต่การรักษาเงินต้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การเลือกใช้ Leverage ที่เหมาะสมในการเทรดของแต่ละคน จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนแต่ละคนไม่ควรมองข้าม และเลือกใช้ Leverage ที่เหมาะสมกับกลยุทธในการเทรดของนักลงทุนแต่ละคน

Lot Size คืออะไร ?

0
LotSize

     Lot Size หรือ Volume ในการซื้อขายเป็นสิ่งที่นักลงทุนใน ตลาดแลกเปลี่ยนค่าเงิน (Forex) จำเป็นจะต้องรู้จัก และต้องทำการศึกษาให้เข้าใจ เนื่องจากขนาดของ Lot Size นั้น จะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณ กำไร/ขาดทุน ในแต่ละคำสั่งซื้อขาย หาก Lot Size มีขนาดใหญ่ จะส่งผลให้ กำไร/ขาดทุน เยอะขึ้นตาม

     การศึกษาขนาดของ Lot Size จึงเป็นการศึกษาเพื่อบริหาร หรือลดความเสี่ยงจากความไม่รู้ในการลงทุน รวมถึงการ Overtrade ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนในตลาด Forex โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ เสี่ยงกับการขาดทุนจนล้างพอร์ทอีกด้วย

Lot size คือ ?

     Lot Size หรือ Volume คือขนาดของการซื้อขายแต่ละคำสั่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงทุกครั้งๆที่มีการส่งคำสั่งซื้อขาย พอๆกับการเลือกว่าจะทำการ Buy (Long) หรือ Sell (Short)  ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องทราบก่อนว่า 1 Lot size ของบัญชีที่ผู้ลงทุนใช้อยู่ เป็น Lot Size ประเภทใด เทียบเท่ากับการลงทุนกี่หน่วยของเงินสกุลหลักที่ซื้อขาย

ประเภทของ Lot Size มีดังนี้

  • 1 Standard Lot เทียบเท่า 100,000 หน่วยของเงินสกุลหลัก 
  • 1 Mini Lot เทียบเท่า 10,000 หน่วยของเงินสกุลหลัก 
  • 1 Micro Lot เทียบเท่า 1,000 หน่วยของเงินสกุลหลัก 
  • 1 Nano Lot เทียบเท่า 100 หน่วยของเงินสกุลหลัก 

จึงสรุปได้ว่า :: 1 Standard Lot = 10 Mini Lot = 100 Micro Lot = 1,000 Lot

ควรใช้ Lot Size ประเภทใด ?

     ในการซื้อขายนั้นจริงนั้น ไม่มี Lot Size ประเภทใดที่ดีไปกว่ากัน นอกจากนี้แม้จะเป็นบัญชีประเภท Standard Lot เหมือนกัน แต่ก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆที่แตกต่างกันไป ตามแต่ละบัญชีของแต่ละโบรคเกอร์ Forex อีกด้วย เช่น

  • Leverage
  • Spread หรือ ค่าบริการ
  • ขั้นต่ำในการฝากเงินถอน
  • คู่เงิน หรือ ผลิตภัณฑ์ ที่สามารถซื้อขายได้
  • จำนวน Lot สูงสุด ต่อ 1 คำสั่งซื้อขาย
  • จำนวน Pending Order ที่สามารถตั้งรอได้
  • เงื่อนไขอื่นๆ เช่น โปรโมชั่นที่สามารถใช้ร่วมได้ หรือ Commission เป็นต้น

ข้อควรทราบ :: โบรคเกอร์ยังสามารถมีบัญชี Standard Lot มากก่า 1 ประเภทด้วย

ควรซื้อขายขนาด Lot เท่าไหร่ดี ?

     โดยทั่วไปแล้วขนาดของ Lot ในการซื้อขายแต่ละคำสั่ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามงบประมาณ (Budget) ในการลงทุน แต่ไม่จำเป็นว่า หากมีเงินลงทุนเท่ากัน ควรจะลงทุนด้วยขนาด Lot เท่ากัน เนื่องจากผู้ลงทุนแต่ละรายมีปัจจัยการลงทุนที่ต่างกัน ซึ่งจำแนกได้หลักๆดังนี้

  • ความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability to take risks) ยิ่งสามารถรับความเสี่ยงได้สูง ผู้ลงทุนมักซื้อขายด้วยขนาด Lot ที่ใหญ่กว่าผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ
  • เป้าหมายในการเทรด (Trading goals) หากต้องการกำไรสูงๆในเวลาอันสั้น ก็ต้องซื้อขายด้วยขนาดของ Lot ที่สูงตาม
  • กลยุทธในการเทรด (Trading strategies) การเทรดสั้นๆมักจะมีแนวโน้มขนาด Lot ที่สูง แต่ก็ไม่เสมอไป
  • ประสบการณ์ในการเทรด (Trading experience) มีคำกล่าวว่า เราจะสามารถหาเงินได้เท่าที่เราจะมีความสามาถ นักลงทุนที่มีประสบการณ์ จึงอาจใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ, กลุยทธการเทรด รวมทั้งมีแนวโน้มว่าจะตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

บทส่งท้าย

     การคำนวนขนาด Lot ในการซื้อขายนั้น จำเป็นต้องพิจาณาถึงทุกๆปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability to take risks) เนื่องจากขนาดของ Lot หรือ Lot Size นั้น จะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณ กำไร/ขาดทุนตามที่กล่าวไปในช่วงต้นของบทความ ดังนั้นเมื่อนักลงทุนมีประสบการณ์มากพอ จะสามารถประมาณขนาดของ Lot ที่จะใช้ในการส่งคำสั่งซื้อขายภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสมได้ในที่สุด

นโยบายเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

0
Recession-Featured

     ในปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากสงครามการค้าโลกที่ยังคงร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละประเด็นยังคงวนเวียนกดดันตลาด ส่งผลให้นักลงทุนยังคงชะลอการลงทุน ทั้งในเชิง Real Sector รวมถึง Financial Sector เพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อวางแผนรับมือกับทิศทางการค้าในปี 2020 ที่มีแนวโน้มไม่ค่อยสดใสจากประเด็นต่างๆ ซึ่งปัจจัยหลักๆมีที่มาและความคืบหน้า ดังนี้

Trade War

     สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจระหว่าง สหรัฐ และ จีน มีจุดเริ่มต้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ดอนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งในช่วงต้นปี 2017 โดยชูนโยบาย “Make America Great Again” ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และเริ่มตั้งกำแพงภาษีจากประเทศคู่ค้าซึ่งสหรัฐขาดดุลการค้า จีนจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักจากประเด็นดังกล่าว โดยนาย สี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับทางสหรัฐเช่นกัน

     แม้ล่าสุดมีการแถลงว่าข้อตกลงในเฟสแรกน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่หลายฝ่ายยังมองว่าประเด็น Trade war น่าจะมีข้อตกลงที่ชัดเจน ก่อนการเลือกตั้ประธานาธิบดีงสหรัฐในช่วงกลางปี 2020

Brexit

     ในช่วงกลางปี 2016 ประชาชนชาวอังกฤษได้มีการลงมติ ให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ด้วยคะแนนเสียง 51.9 ต่อ 48.1 โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ลงมติให้แยกตัว คือ อังกฤษและเวลส์ ขณะที่สกอตแลนด์และไอแลนด์เหนือ ต้องการให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ด้วยคะแนนเสียงที่ฉิวเฉียดจึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาจากประเด็นดังกล่าวจนยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

     ล่าสุดนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกมากล่าวคำขอโทษ หลังจากประสบความล้มเหลวในการผลักดันให้อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ได้ตามกำหนดในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา และมีการขยายเส้นตาย Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากความเห็นพ้องของสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ 

สงครามการค้าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

     ทั้ง 2 ประเทศ มีความขัดแย้งกันมายาวนานจากประวัติศาสตร์ และเริ่มลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจรวมถึงความมั่นคง เมื่อปลายปี 2018 ศาลในเกาหลีใต้สั่งให้ 3 บริษัทญี่ปุ่น คือ นิปปอน สตีล, นาจิ ฟูจิโกชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ชายเกาหลีใต้ที่อ้างว่า โดนบริษัทเหล่าดังกล่าว ใช้แรงงานเป็นทาส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

     เมื่อ 1 กรกฎาคม รัฐบาลญี่ปุ่นลดปริมาณการส่งออกสารเคมี 3 ชนิด ที่ใช้ในการผลิตชิป และ ผลิตหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ขึ้นยู่กับการขายอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระทบกระบวนการผลิตของเกาหลีใต้และเกิดปัญหา และยังไม่มีที่ท่าว่าจะเจรจากันได้

เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง

     เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 62 มีชาวฮ่องกงออกมาออกมาประท้วง คัดค้านกฏหมายส่งผู้รายข้ามแดน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่เชื่อมั่นในจีน ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องมือของจีนในการใส่ร้ายคนฮ่องกงที่อพยพมาจากจีนได้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงชะงักโดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยว และสถานการณ์ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

นโยบายเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

     จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องนำนโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ (Expansionary Monetary Policy) ออกมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาคเอกชน ทั้งในส่วนของนโยบายการเงิน ซึ่งถูกกำหนดโดย “ธนาคารกลาง” และนโยบายการคลัง ซึ่งถูกถูกกำหนดโดย “กระทรวงการคลัง”

     โดยทั้งนโยบายการเงินแลการคลังนั้นจะต้องดำเนินนโยบายสอดคล้องกัน ทั้งธนาคารกลางและกระทรวงการคลังจึงต้องประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบาย รวมถึงระดับของนโยบายที่แต่ละฝ่ายจะออกนโยบายออกมา ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละช่วงของเศรษฐกิจ โดยเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในยามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย (Recession) มีดังนี้

  • การลดอัตราดอกเบี้ย แน่นอนว่าการลดภาระทางดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาคเอกชน แต่ประสิทธิภาพของการลดดอกเบี้ยจะส่งผลกับตลาดน้อยลง เมื่อดอกเบี้ยใกล้เคียง 0% มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่จูงใจให้เกิดการฝากเงิน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ยาก เรื่องจากมีเม็ดเงินในการปล่อยกู้จำกัด
  • เพิ่มการใช้จ่ายจากภาครัฐบาล หรือ นโยบายงบประมาณขาดดุล เป็นนโยบายที่รัฐบาลจะใช้เงินมากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทางการคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน และจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น จากความต้องการแรงงานในการดำเนินโปรเจ็คต่างๆของรัฐบาล และเมื่อประชาชนมีงานทำมากขึ้นจะส่งผลให้มีเงินไปใช้จ่าย และกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก
  • ลดอัตราเงินสดสำรองที่ต้องดำรง ของธนาคารพาณิชย์ จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินส่วนที่เหลือจากการต้องกันเงินสำรองดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงมีเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากภาคเอกชนอีกทาง
  • การซื้อ “หลักทรัพย์” หรือ “พันธบัตร” ของธนาคารกลางกับภาคเอกชน จะเป็นการเพิ่มกระแสเงินสดกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
  • นอกจากนี้ยังสามารถปรับลดอัตราซื้อ หรือการขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม ให้สอดคล้องกันนโยบายเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นได้

บทสรุป

     นโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้น จะเป็นไปในเชิงกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงิน หรือสร้างอุปสงค์เทียมเข้าไปในตลาด เพื่อให้เกิดการลงทุน การใช้จ่ายจากภาคเอกชน รวมถึงผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

     เพราะการจ้างงานที่เต็มระบบจะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ หรือเป็นการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ที่สำคัญเมื่อแรงงานมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีความต้องการสินค้าหรือบริการมากขึ้นตาม อีกทั้งยังเป็นการลดภาระรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชย ให้แก่แรงงานที่ว่างงานในระบบได้ด้วย