แม้ว่าหุ้นที่เราซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกนั้น จะเป็นบริษัทมหาชนที่ได้ทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศแล้วก็ตาม แต่ในความมหาชนนั้นยังคงมีระดับของความมหาชนที่แตกต่างกัน ของหุ้นแต่ละตัวแฝงอยู่

     ซึ่งนักลงทุนที่มีประสบการณ์หรือมีประสบการณ์ในการลงทุนมานาน มักจะเข้าใจถึงระดับความมหาชนของหุ้นแต่ละตัวอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่หรือผู้ที่เริ่มศึกษาการลงทุนในหุ้นหลายราย อาจจะจะยังไม่เข้าใจถึงระดับความมหาชนที่แฝงอยู่ของหุ้นแต่ละตัว วันนี้ผมจึงอยากจะมากล่าวถึงระดับความมหาชนของหุ้น ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลให้ระดับความมหาชนที่ผมกล่าวไว้มีความแตกต่างกัน รวมทั้งระดับความมหาชนส่งผลอย่างไร

ความหมายของคำว่า “มหาชน”

     ก่อนที่จะทราบถึง ระดับของมหาชนได้นั้น จำเป็นต้องทราบถึงความหมายของคำว่ามหาชนกันก่อน คำว่า มหาชน มีความหมายตามพจนานุกรมว่า คนจำนวนมาก หรือคนส่วนใหญ่ นั่นทำให้สามารถตีความในเบื้องต้นได้ว่า บริษัทที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นอยู่ 1,000 คน ย่อมมีระดับของความมหาชนมากกว่าบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นอยู่จำนวน 100 คน โดยบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นอยู่จำนวนมาก ก็มักจะมีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงด้วยเช่นกัน โดยมูลค่าตามราคาตลาดนั้น จะมีสูตรง่ายๆในการคิดคำนวนดังนี้

Market Capitalization = จำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด x ราคาต่อหุ้น

     ซึ่งหุ้นที่ Market Capitalization สูงมักจะเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงตาม โดยที่ทุนจดทะเบียนนั้น หมายถึง ทุนตั้งต้นที่บริษัทแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะโชว์ในหนังสือรับรองของแต่ละบริษัทฯ โดยที่ทุนจดทะเบียนที่ชะระแล้วนั้นต้องไม่น้อยกว่า 25% ของทุนจดทะเบียน หรือจะชำระเต็มจำนวนก็ได้ ซึ่งแสดงถึงฐานะทางการเงินรวมถึงความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทมหาชนนั้นๆ

     แต่ไม่ใช่ว่าหลักทรัพย์ใดมี Market Capitalization สูงที่สุดแล้ว จะมีระดับความหาชนที่สุดเสมอไป เนื่องจากความหมายของคำว่า มหาชน คือ คนจำนวนมาก หรือคนส่วนใหญ่ ดังนั้นการมีมูลค่าตามราคาตลาดสูง จึงเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้น ของการมีหุ้นมากพอในการขายให้แก่ผู้ที่สนใจลงทุน หรือผู้ที่ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นอย่างทั่วถึงนั่นเอง

ประเภทของผู้ถือหุ้น

     ผู้ถือหุ้นนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ผู้ถือรายใหญ่ และ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งการจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ต้องถือครองหุ้นของบริษัท 0.50% เป็นอย่างต่ำ และจะแสดงรายชื่อในเว็บไซต์ของทางตลาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งเมื่อนักลงทุนมีการครอบครองหุ้นเกินร้อยละ 25, 50, 75 จะต้องแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์และทำ Mandatory Tender Offer คือการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ ตามกฏของตลาดหลักทรัพย์ด้วย

     กลับมาที่เรื่องระดับของความมหาชนกันต่อ แม้ว่าหลักทรัพย์แต่ละตัวจะไม่ได้มีการแจ้งถึงสัดส่วน รวมถึงจำนวนผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจนในแต่ละวัน เนื่องจากหุ้นของบริษัทมหาชนจะมีการซื้อขายกันใน ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นตลาดรองประเภทหนึ่ง โดยจะเปิดให้ทำการซื้อ-ขายทุกวันทำการ แต่ตัวเลขดังกล่าวนั้น ก็พอจะแสดงให้เห็นถึง จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด ต่อ จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ได้คร่าวๆ ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของผู้ถือหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.set.or.th

     นอกจากนี้ปริมาณการเสนอซื้อ-ขาย รวมถึงปริมาณการซื้อขายแต่ละวันของหุ้นแต่ละตัวในตลาดหลักทรัพย์ ก็เป็นตัวชี้วัดถึงระดับความมหาชนได้อีกรูปแบบหนึ่ง เรามักเรียกตัวชี้วัดนี้ว่าสภาพคล่อง  (Liquidity) ของหุ้น ซึ่งหากหุ้นที่มีความมหาชนมากก็มักจะส่งผลให้มีสภาพคล่องสูงตาม เนื่องจากมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนผู้ถือหุ้นอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่ามีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆอยู่ ซึ่งหุ้นที่มีระดับความมหาชนสูง มักจะมีสภาพคล่องสูงอยู่อย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงที่มีข่าวหรือมีปัจจัยบางอย่างเข้ามากระทบเพียงช่วงเดียว

สรุปปัจจัยหลักที่ส่งผลให้หุ้นของแต่ละบริษัทมีระดับความมหาชนสูง

  • มีมูลค่าตามราคาตลาดที่สูง :: เป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก ซึ่งส่งผลให้สามารถรองรับจำนวนผู้ถือหุ้นได้มาก
  • มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย ต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดสูง :: ผู้ถือหุ้นรายเยอะ สถาพคล่องก็มักจะสูงตาม
  • มีจำนวนผู้เสนอซื้อ เสนอขาย และปริมาณการซื้อขายต่อวันสูง :: สภาพคล่องสูง ก็ยิ่งน่าลงทุน

     จะเห็นได้ว่าปัจจัยหลักๆที่กล่าวมาข้างต้น คล้ายคลึงกับคุณสมบัติของการคัดเลือกหุ้นที่นำมาใช้คำนวนดัชนี SET50 และ SET100 จึงอาจกล่าวได้ว่าบริษัทที่อยู่ในดัชนี SET50 และ SET100 นั้นมีระดับความมหาชนที่สูงกว่าหลักทรัพย์อื่นๆในตลาดโดยเฉลี่ย แต่ด้วยปัจจัยต่างๆที่ไม่คงที่จึงส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรายชื่อบริษัทที่อยู่ในดัชนีดังกล่าวทั้งเข้าและออกอยู่เสมอ ซึ่งจะมีการทบทวนทุกๆ 6 เดือน โดยทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กฏเกณฑ์คร่าวๆในการคัดเลือกหลักทรัพย์มาคำนวนในดัชนี SET50 และ SET100
  • เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 200 ลำดับแรก โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉลี่ยต่อวัน ย้อนหลัง 3 เดือน
  • เป็นหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20% ของทุนชำระแล้ว โดยพิจารณาข้อมูลล่าสุดตามรอบระยะเวลาในการทบทวน
  • เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยมูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์นั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญทั้งตลาดในเดือนเดียวกัน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน
  • เป็นหลักทรัพย์ที่มีจำนวนหุ้นซื้อขาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของงตลาดหลักทรัพย์นั้นๆ ในเดือนที่มูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์ผ่านเงื่อนไขตามข้อบน
ผลกระทบในการเลือกซื้อหุ้นที่มีความมหาชนต่ำ หรือไม่มากพอ
  • ผลกระทบแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดของการซื้อหุ้นที่ไม่มีความมหาชนพอ คือ จะส่งผลให้ปริมาณเสนอซื้อ-ขาย ไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อความต้องการทำรายการซื้อ-ขายเยอะๆในราคาเดียว เนื่องจากปริมาณซื้อขายในแต่ละช่องของ Bid – Offer ไม่เพียงพอ
  • ประการถัดมา คือ เมื่อปริมาณการซื้อขายในแต่ละราคามีปริมาณน้อย จะส่งผลให้เกิดการทำราคาให้ผิดเพี้ยนไปจากราคาตลาดได้ง่าย หรือการทำราคาของผู้ที่ต้องการปั่นราคาตลาดได้ ซึ่งหากสังเกตุจะเห็นได้ว่า ในหุ้นที่ถูกนำมาคำนวนดัชนี SET50 และ SET100 การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น มักจะมีความสมเหตุสมผลมากกว่า

การลงทุนในหุ้นทุกตัวที่ถูกคำนวนในดัชนี SET50 หรือ SET100

     หากต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีระดับความมหาชนสูงๆ เช่น หุ้นในดัชนี SET50 ซึ่งถือเป็นหุ้นกลุ่มที่มีระดับความหาชนสูงสุดในตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวม ที่มีกลยุทธ์การบริหารแบบเชิงรับ ซึ่งจะเน้นลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง